เมื่อเหมืองแร่กับชุมชนอยู่ร่วมกัน กรณีศึกษาตำบลหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี
แร่เป็นทรัพยากรธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและเป็นวัตถุดิบพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมูลค่าทรัพยากรแร่ทั้งในแง่ของการผลิต การใช้ การนำเข้า และการส่งออก ใน พ.ศ. 2563 มีมูลค่ารวมกันมากถึง 200,000 ล้านบาท ซึ่งแร่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ได้แก่ แร่เกลือหิน หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ถ่านหิน ยิปซัม หินบะซอลต์เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง และหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้แร่จะเป็นทรัพยากรที่ให้ประโยชน์ สร้างงาน สร้างรายได้แก่คนในประเทศจำนวนมาก เป็นอุตสาหกรรมเสาหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การทำเหมืองแร่กลับส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง ดังจะเห็นได้จากข่าวการร้องเรียนเรื่องผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ตามพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย กลายเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างชุมชนกับผู้ประกอบการเหมืองแร่
อีกหนึ่งพื้นที่ที่ประสบปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ นั่นก็คือ พื้นที่เขตตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ถือเป็นอีกหนึ่งแห่งที่มีการทำเหมืองแร่ประเภทหินเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และหินเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยบริเวณหน้าพระลานนั้น มีกิจกรรมบดย่อยหินมาไม่ต่ำกว่า 50 ปีแล้ว และปัญหาหลักที่เกิดขึ้น คือ การฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง และบดบังทัศนวิสัยในการสัญจร ทำให้เกิดคำพูดที่มักจะได้ยินกันเป็นประจำว่า “หน้าพระลานเป็นเมืองในหมอก” ซึ่งสถานการณ์รุนแรงถึงระดับที่ทำให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต้องประกาศให้พื้นที่ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เป็นเขตควบคุมมลพิษจากปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานใน พ.ศ. 2547 นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบในเรื่องต่างๆ เช่น กลิ่นเหม็น เขม่าควัน เสียงดัง และแรงสั่นสะเทือนจากการประกอบกิจการ การบุกรุกพื้นที่นอกเขตประทานบัตร การปล่อยน้ำเสียทิ้งในพื้นที่ใกล้เคียง การคัดค้านการสร้างโรงงานปูนขาว เนื่องจากเกษตรกรกลัวมีผลกระทบต่อผลผลิตของพืช ปัญหาถนนชำรุดจากการขนส่งสินค้าแร่ที่ส่งผลให้เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าบริเวณหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี ประสบกับปัญหาที่เกิดจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ซึ่งส่งผลกระทบหลายประเด็น ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพประชาชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้
1) การแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในเขตควบคุมมลพิษบริเวณตำบลหน้าพระลาน ตามคำสั่งจังหวัดสระบุรีที่ 591/2557 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2557 ซึ่งมีเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลหน้าพระลานร่วมเป็นคณะกรรมการ บูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องระหว่างหน่วยงาน ทำให้ข้อมูลมีการตรวจสอบอยู่เสมอ และจัดการข้อมูลให้เป็นระบบมากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชน รวมทั้งมีกลไกการตรวจสอบ เฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินผล ของแหล่งกำเนิดมลพิษฝุ่นละออง และช่องทางการสื่อสารออนไลน์ที่รวดเร็วทันเหตุการณ์
2) การใช้เทคโนโลยีการลดฝุ่น เช่น การฉีดสเปรย์น้ำที่ตัวกำเนิดฝุ่น คือ ตัวปากโม่หิน และช่วงระหว่างรอยต่อ เช่น ระบบสายพานที่หมุนลำเลียงหินที่ถ่ายโอนหินระหว่างสายพานหรือระหว่างสายพานกับกองหิน หากโรงงานเป็นระบบเปิดหรือเปิดโล่ง ให้ทำระบบสเปรย์น้ำฉีดเป็นฝอยลงมา ทำให้ดักฝุ่นได้ รวมถึงกำหนดให้รถบรรทุกฉีดน้ำล้างล้อก่อนออกจากโรงงาน การฉีดพรมถนนที่ใช้ขนส่ง และฉีดน้ำและกวาดถนนเส้นหลัก ตลอดจนปรับปรุงถนนเป็นถนนคอนกรีต ซึ่งจะช่วยลดมลภาวะจากการขนส่งได้
3) การใช้เทคโนโลยีระบบบำบัดอากาศแบบเปียก (Wet Scrubber) ซึ่งเป็นการดูดฝุ่นเข้ามาในเครื่องบำบัดอากาศเสียในโรงโม่ บด และย่อยหิน และฉีดสเปรย์น้ำให้ฝุ่นกลายเป็นโคลน ทั้งนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ออกประกาศให้โรงโม่ บด และย่อยหิน ทุกโรงจะต้องมีระบบบำบัดอากาศแบบเปียก ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2548
4) การแก้ไขปัญหาฝุ่นในช่วงฤดูหนาวที่ฝุ่นมีค่าสูงติดต่อกันหลายสัปดาห์ อุตสาหกรรมจังหวัด และสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต จะทำหน้าที่ตรวจสอบและกำกับดูแลทางวิชาการ เพื่อตรวจสอบเหมืองและโรงโม่ บด และย่อยหิน รวมทั้งกำชับให้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
5) การติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ เช่น ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เพื่อติดตาม ประเมินผล และแจ้งเตือนคุณภาพอากาศแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ รวมทั้งเข้าติดตามตรวจสอบการระบายฝุ่นละอองของโรงโม่ บด และย่อยหินอย่างสม่ำเสมอ
6) การเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพของประชาชนและพนักงานในสถานประกอบการ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรีและหน่วยงานสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จัดบริการตรวจสุขภาพในพื้นที่ ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ และให้ความรู้ในการป้องกันตนเองแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง และการให้เหมืองแร่หรือโรงโม่ปลูกต้นไม้เป็นแนวกันฝุ่นรอบพื้นที่
7) ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ได้ดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อชุมชน คืนประโยชน์ให้พื้นที่และท้องถิ่น ดูแลชุมชนและพื้นที่รอบเหมือง เพื่อลดความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้น และปฏิบัติตามระเบียบของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่และชุมชนรอบพื้นที่เหมืองแร่ ในรัศมี 5 กิโลเมตร ด้วยการแบ่งกำไรมาตั้งเป็น 3 กองทุน คือ (1) กองทุนฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่ (2) กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ และ (3) กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมือง ทำให้ชุมชนสามารถพัฒนาตนเอง สาธารณูปโภคพื้นฐาน และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่เหมืองแร่กับผู้ประกอบการมีทิศทางที่ดี และลดความขัดแย้งลงได้มากขึ้นกว่าในอดีต รวมทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ได้นำขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ดีในการทำธุรกิจจากต่างประเทศมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของพื้นที่
8) รายได้ค่าภาคหลวงแร่ที่จัดเก็บจากผู้ประกอบการ ผ่านทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจะถูกจัดสรรให้ภาครัฐส่วนกลาง 40% และอีก 60% จัดสรรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสระบุรี เพื่อใช้บริหารและพัฒนาด้านต่างๆ ในท้องถิ่น รวมถึงใช้ในการดูแลประชาชนและจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลมาจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่
9) ให้คำแนะนำในการประกอบกิจการของเหมืองแร่และธุรกิจต่อเนื่องที่เป็นแหล่งกำเนิดของฝุ่นละอองที่สำคัญ โดยมีโครงการภายใต้การควบคุมกำกับของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้แก่ โครงการเหมืองแร่สีเขียว อุตสาหกรรมสีเขียว และมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแร่ ร่วมกับการพัฒนาองค์กรให้มีธรรมาภิบาล และประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีการมอบรางวัลให้สถานประกอบการที่มีผลการดำเนินงานผ่านเกณฑ์ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้สถานประกอบการ และสร้างความเชื่อมั่นในการป้องกันและควบคุมผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนในพื้นที่รอบเหมืองแร่ ซึ่งรางวัลที่ผู้ประกอบการในจังหวัดสระบุรีได้รับ เช่น รางวัลเหมืองแร่สีเขียว และรางวัลมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแร่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการรวมตัวกันของผู้ประกอบการเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการประกอบกิจการเหมืองแร่ที่ดีร่วมกัน เช่น ชมรมโรงโม่หินหน้าพระลาน และสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย เป็นต้น
ความสำเร็จที่เกิดจากความพยายามของหลายฝ่าย ทั้งภาคประชาชน ผู้ประกอบการ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐส่วนกลางและท้องถิ่นที่ร่วมกันหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาจากการทำเหมืองแร่บริเวณหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี ด้วยการมีส่วนร่วมในทุกมิติทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ชุมชนและกิจการเหมืองแร่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล ลดปัญหาความขัดแย้งลงกว่าในอดีตที่ผ่านมา และร่วมกันสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ทั้งนี้ การทำเหมืองแร่บริเวณหน้าพระลานจึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับนำไปถอดเป็นบทเรียนและประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นที่เกิดปัญหาจากการทำเหมืองแร่ต่อไป
จัดทำบทความโดย นายเฉลิมวุฒิ อุตโน เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน
กลุ่มงานติดตามประเมินสถานการณ์ กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เอกสารอ้างอิง
กรมควบคุมมลพิษ. (2564). รายการพิเศษ ศกพ. ประเด็นการป้องกันปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่ตำบลหน้าพระลานอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี โดย นายสกล จุลาภา รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่. [ออนไลน์]. ค้นเมื่อ 3 มกราคม 2565, จากเว็บไซต์: https://www.facebook.com/watch/?v=3780130352101327
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่. (2564). ข้อมูลสถานการณ์แร่ เอกสารประกอบการจัดทำรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2564. (เอกสารอัดสำเนา).
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2562).รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2561. กรุงเทพมหานคร.
บทความ
-
ขยะทะเล…แก้ได้ที่ตัวเรา
By Mr. John 3h ago -
“ป่าในเมือง” (Urban Forest)
By Mr. John 3h ago -
E-Waste ขยะใกล้ตัวที่รอการแก้ปัญหา
By Mr. John 3h ago -
การบริหารจัดการนำ้
By Mr. John 3h ago -
ขยะพลาสติก
By Mr. John 3h ago